อาหารไทย

หลากรส  หลายวิถี…ชีวิตไทย…รสชาติไทย Thai Ways and Thai Flavors

อาหารไทย สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต ความคิด จิตใจของคนไทยได้อย่างแจ่มชัด
วัฒนธรรมการรับประทานที่มีความหลากหลายอย่างน่าอัศจรรย์ สร้างสรรค์จากภูมิปัญญา
ในการเลือกสรรทรัพย์ในดินสินในน้ำแต่ละอย่างมาปรุงเป็นอาหารสารพัด
ด้วยวิธีการต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
แตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละภูมิภาค อีกทั้งยังมรการผสมผสานอาหารจากชนชาติต่างๆ
เช่น จีน อินเดีย ลาว มอญ ญวน พม่า มาเลเซีย ซึ่งกว่าอาหารชนิดนั้นจะมาเป็นส่วนหนึ่ง
ของสำรับไทย ก็ต้องผ่านการปรับเปลี่ยน ปรุงแต่งรสชาติให้ถูกปากถูกใจ เหมาะสมกับวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะรับวัฒนธรรมอาหารจากชาติใดๆ สุดท้ายก็คือ
อาหารไทย รสชาติแบบไทยๆ นั่นเอง
พื้นฐานอาหารไทยมาจากเครื่องปรุงที่แสนเรียบง่ายไม่กี่อย่างคือ ข้าว พริก เกลือ
ส่วนเนื้อสัตว์มีปลาเป็นหลัก “กินข้าวกินปลา” จึงเป้นวัฒนธรรมของอาหารทุกภาค
“ข้าว” เป็นอาหารหลักของคนไทย ไม่ว่าข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว
นอกจากกินกับ “กับข้าว” แล้ว ข้าวนำไปปรุงอาหารคาวหวานได้ด้วย  และนำไปแปรรูปเป็น
อาหารสารพัดชนิดที่นิยมกินกันทั่วไป เช่น ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว กับข้าวหลักๆ ของคนไทย ได้แก่ น้ำพริก แกง ยำ และลาบ น้ำพริกถือเป็นหัวใจสำคัญของอาหารไทย
กินกับผักหรือเครื่องแนม
โดยถ้วยน้ำพริกจะตั้งอยู่กลางสำรับ น้ำพริกช่วยให้รสชาติอาหารไม่จำเจ
และยังช่วยให้เจริญอาหารทั้งแกงและน้ำพริก

เอกสารอ้างอิง: ทรัพย์และศิลป์

อาหารว่าง

  • ความหมายและความสำคัญของอาหารว่าง

อาหารว่าง หมายถึง อาหารระหว่างมื้อ เป็นอาหารประเภทเบาๆ มีปริมาณอาหารน้อยกว่า อาหารประจำมื้ออาจจะเป็นอาหารน้ำหรืออาหารแห้ง มีทั้งคาวและหวาน หรือเป็นอาหารชิ้นเล็กๆขนาดพอคำ หยิบรับประทานได้ง่าย จัดให้สวยงามน่ารับประทานเป็นทั้งอาหารไทยและอาหารนานาชาติ    หรือรับประทานควบคู่กับเครื่องดื่มร้อน หรือน้ำผลไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง

  • ประวัติความเป็นมา
  • 1. อาหารว่างไทยสมัยโบราณ

อาหารว่างไทยมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณ แม่บ้านสมัยก่อนใช้เวลาว่างในการทำอาหารว่างเก็บไว้  โดยใช้วัสดุที่เหลือจากอาหารมื้อหลักให้เป็นประโยชน์ และใช้วัสดุที่มีมากในฤดูกาลมาประกอบเป็นอาหารว่าง เช่น ข้าวตังหน้าตั้ง เมี่ยงลาว เมี่ยงส้ม ข้าวตู ข้าวตอกตั้ง  ข้าวเม่าหมี่ ขนมจีบ ปั้นสิบทอด ฯลฯ เมื่อมีการต้อนรับแขกก็จะนำอาหารออกมาเลี้ยงแขก พร้อมกับเสิร์ฟน้ำผลไม้หรือน้ำเย็นลอยดอกมะลิ

ต่อมามีการพบปะติดต่อกับคนต่างชาติ รับเอาวัฒนธรรมของชาติต่างๆ เข้ามา จีนเป็นชนชาติที่ใกล้ชิดกับไทยมาก  วัฒนธรรมของจีนนิยมดื่มชา ชงดื่มร้อนๆตลอดวัน ใช้ดื่มเองและเลี้ยงแขกด้วย  เสิร์ฟพร้อมขนมหวาน อาหารว่างที่เป็นของขนมจีนได้แก่ ขนมงาตัด ถั่วตัด  ขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋อ่อน ฟักเชื่อม อาหารว่างที่เป็นของคาว ได้แก่ ซาลาเปา ขนมกุยช่าย ขนมจีบ ฯลฯ

  • 2. อาหารว่างไทยสมัยปัจจุบัน

ในปัจจุบันอาหารว่าง มีความจำเป็นโดยเฉพาะคนที่ต้องเดินทางไกลระหว่างบ้านกับที่ทำงาน รวมทั้งเด็กๆที่ต้องไปโรงเรียน จึงควรต้องรับประทานอาหารระหว่างมื้อ อาหารว่างควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ทำง่าย รับประทานแล้วไม่อิ่มจนเกินไป และสะดวกที่จะรับประทาน  ไม่ยุ่งยากในเรื่องของภาชนะและการจัดเสิร์ฟ ควรเป็นอาหารที่เป็นชิ้นเป็นคำ หรือถ้วยเล็กๆ ซึ่งรับประทานได้สะดวก แต่ต้องคำนึงด้วยว่าอาหารว่าง ควรจะประกอบด้วยอาหารหลายอย่าง เช่น แป้ง ไข่ น้ำตาล นม ผัก ผลไม้ เพื่อให้ได้คุณค่าอาหารครบ เครื่องดื่มจะเป็นร้อนหรือเย็นก็ได้ แล้วแต่โอกาสและสถานที่

  • ประเภทของอาหารว่าง

อาหารว่างแบบไทยและนานาชาติ ดังนี้

1. อาหารว่างไทย (คาวหวาน) อาหารว่างที่คนไทยรับประทานมีมากมายหลายชนิด ทั้งชนิดน้ำและชนิดแห้ง ของว่างชนิดน้ำไม่นิยมเลี้ยงในตอนบ่าย   นิยมอาหารว่างชนิดแห้งเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปั้นสิบนึ่งไส้ต่างๆ  กระทงทอง  ขนมเบื้องกรอบ  สาคูไส้หมู  เมี่ยงลาว ของหวาน เช่น ขนมสอดไส้ ขนมลืมกลืน ตะโก้ เป็นต้น

2. อาหารว่างจีน (คาวหวาน) ก็มีมากเช่นเดียวกัน มีทั้งของว่างชนิดน้ำ เช่น โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว เกี๊ยวน้ำ เป็นต้น ส่วนอาหารว่างชนิดแห้งมักจะเป็นของทอดหรือนึ่ง เช่น ขนมจีบ ปั้นสิบนึ่ง ขนมเปี๊ยะ เปาะเปี๊ยะสด ซาลาเปา เป็นต้น

3. อาหารว่างสากล นิยมกันมากในการจัดเลี้ยงงานใหญ่ๆ  เพื่อรับรองแขก เพราะจัดได้สวยและน่ารับประทาน  อาหารที่รับประทานอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการ  ซึ่งแล้วแต่จะจัดขึ้น อาหารว่างสากลที่นิยมจัดรับประทานมีดังนี้  ชา กาแฟ แซนด์วิช  เค้กต่างๆ  เยลลี ผลไม้  ไอศกรีม

4. อาหารว่างแบบประยุกต์ ในการประกอบอาหารว่างนั้นเราไม่จำเป็นจะต้องทำอยู่แต่อย่างเดียวเสมอไป ผู้ประกอบการอาหารจำเป็นต้องดัดแปลง  ให้เหมาะสมกับสมัยและความนิยมการนำอาหารแบบต่างๆมาประยุกต์ก็คือ การนำอาหารว่างไทย จีน ฝรั่ง มาจัดผสมรวมกันในการเลี้ยงรับรองแขก เพื่อให้อาหารมีรสแตกต่างกันออกไป  และมีความสวยงามอีกด้วย

  • ชนิดของอาหารว่าง

อาหารว่างแบ่งตามรสชาติได้ 2 ชนิด คือ

1. อาหารว่างคาว   ได้แก่ ขนมจีบ แซนด์วิช  ปั้นสิบทอด สาคูไส้หมู ซาลาเปา ฯลฯ
2. อาหารว่างหวาน ได้แก่ คุกกี้ต่างๆ  เค้กต่างๆ ขนมปุยฝ้าย ขนมดอกลำดวน ขนมสอดไส้ พายไส้ต่างๆ เป็นต้น

  • ลักษณะของอาหารว่าง

อาหารว่างแบ่งตามลักษณะได้ 4  ประเภท คือ

1. อาหารว่างที่เป็นอาหารแบบแห้ง ได้แก่

– ข้าวตังหน้าตั้ง
– ขนมจีบ ซาลาเปา
– สาคูไส้หมู
– ปั้นสิบนึ่งหรือทอด
– คุกกี้ บิสกิต
– เค้กต่างๆ

2. อาหารว่างชนิดน้ำ ได้แก่
– ก๋วยเตี๋ยวน้ำ หมู เป็ด ไก่
– มะกะโรนีน้ำ
– โจ๊กหมู กุ้ง ไก่
– เครื่องดื่มร้อน เย็น

3. อาหารว่างประเภทกับแกล้ม อาหารประเภทนี้ใช้รับประทานกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์  ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารประเภทยำ ลาบ พล่าต่างๆ ของทอด อาหารขบเคี้ยว เช่น

– ยำไส้กรอก
– ยำอังวะ
– ยำเล็บมือนาง
– ยำปลากรอบ
– ลาบหมู
– ลาบเนื้อ
– ลาบเป็ดและลาบอื่นๆ
– ปลาทอดต่างๆ

4. อาหารว่างแบบค็อกเทล
อาหารว่างแบบค็อกเทล ได้แก่ พวกแซนด์วิชต่างๆ ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ หรือออร์เดิร์ฟ ชนิดต่างๆ ข้าวเกรียบทอด มันทอด ถั่วทอดกับแกล้มที่เป็นชิ้นเล็กๆ หยิบง่ายสะดวกแก่การรับประทาน

เอกสารอ้างอิง :  อุบล ดีสวัสดิ์ .  (2549).  อาหารว่าง.  กรุงเทพฯ : เพชรการเรือน.

ภาคใต้

วัฒนธรรมการกินภาคใต้

ภาคใต้…   เป็นภาคที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลมากที่สุด   ลักษณะภูมิประเทศ   เป็นแหลมที่ยื่นลงไปในทะเล
ผู้คนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้จึงนิยมทำการประมง เพราะมีทรัพยากรในท้องทะเลมากมาย เมื่ออาศัยอยู่ชายทะเล
อาชีพเกี่ยวข้องกับทะเล    อาหารหลักในการดำรงชีวิตจึงเป็นอาหารทะเล
อาหารส่วนใหญ่ของคนภาคใต้  มักเกี่ยวข้องกับปลาและสิ่งอื่น ๆจากท้องทะเลอาหารทะเลหรือปลา โดยธรรมชาติจะมีกลิ่นคาวจัด  อาหารภาคใต้จึงไม่พ้นเครื่องเทศ โดยเฉพาะขมิ้นดูจะเป็นสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้เลยเพราะช่วยในการดับกลิ่นคาวได้ดีนัก  ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าอาหารปักษ์ใต้จะมีสีออกเหลือง ๆ แทบทุกอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นแกงไตปลา แกงส้ม แกงพริก ปลาทอไก่ทอด ก็มีขมิ้นกันทั้งสิ้น    และมองในอีกด้านหนึ่งคงเป็นวัฒนธรรมการกินที่ผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในภาคใต้นั่นเอง
เพราะชีวิตของคนภาคใต้ เกี่ยวข้องกับทะเล   เมื่อออกทะเลหาอาหารมาได้มากเกิดรับประทานให้หมดในหนึ่งมื้อได้    คนภาคใต้จึงนำอาหารที่ได้จากทะเลมาทำการถนอมอาหาร  เช่น  กุ้งส้ม   ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กุ้งแตะ ซึ่งจะมีสีเขียว ชนิดนี้เมื่อนำมาทำเป็นกุ้งส้ม สีจะออกแดง ๆ และมีรสเปรี้ยว การทำกุ้งส้มนั้น นำกุ้งมาหมักกับเกลือ น้ำตาลทราย หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 วันจนมีรสเปรี้ยว จึงนำมาทำอาหารรับประทานได้

–   ปลาขี้เสียดแห้ง คือการนำปลาสีเสียดมาใส่เกลือจนทั่วตัวปลา แล้วตากแดดให้แห้ง เก็บไว้รับประทานได้นาน
–   ปลาแป้งแดง คือการนำปลาโคบ หมักกับข้าวสุก เกลือ ใส่สีแดง หมักทิ้งไว้ 3-4 วัน จึงนำมาปรุงอาหารได้
–   ปลาเค็ม คือ การนำปลามาหมักกับเกลือ เมื่อก่อนชาวประมงออกหาปลา พอได้ปลามากก็หมักกับเกลือบนเรือ
ครั้นเรือเข้าฝั่งก็จะได้ปลาเค็มไว้รับประทาน

– กุ้งแห้ง คือ การนำกุ้งที่ได้มาเคล้ากับเกลือ แล้วตากแดดให้แห้ง เก็บไว้รับประทานได้นาน
– น้ำบูดู ได้จากการหมักปลาตัวเล็ก ๆ กับเกลือเม็ด โดยหมักไว้ในโอ่ง ไห หรือถังซีเมนต์ แล้วปิดฝาผนึกอย่างดี
ตากแดดทิ้งไว้ 2-3 เดือน หรือเป็นปี จึงนำมาใช้ได้ บูดูมีทั้งชนิดหวานและชนิดเค็ม ชนิดหวาน   ใช้คลุกข้าวยำ ปักษ์ใต้ ชนิดเค็ม ใช้ปรุงอาหารประเภทน้ำพริก เครื่องจิ้ม
-พุงปลา ได้จากการเอาพุงปลาทู หรือปลารังมารีดเอาสิ่งสกปรกออก แล้วใส่เกลือหมักไว้ 1 เดือนขึ้นไป จึงนำมา
ปรุงอาหารได้
-เนื้อหนาง คือ การนำเอาหัวของวัวไปย่างไฟอ่อน ๆ จนสุกทั่วกันดี แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นขูดเอาส่วนที่ไหม้
ออกจนขาวสะอาดดี เลาะเอาแต่เนื้อ นำมาเคล้ากับเกลือ น้ำตาลปีบ หมักทิ้งไว้ 2-3 คืน  จึงนำมาปรุงอาหารได้

อาหารปักษ์ใต้แม้จะเป็นอาหารที่อร่อย  น่าลิ้มลอง แต่สิ่งหนึ่งที่ประทับใจผู้คนคือความเผ็ดร้อนของรสชาติอาหารผู้คนในภาคใต้นิยมรสอาหารที่เผ็ดจัด  เค็ม   เปรี้ยว   แต่ไม่นิยมรสหวาน รสเผ็ดของอาหารปักษ์ใต้มาจากพริกขี้หนูสด พริกขี้หนูแห้งและพริกไทย ส่วนรสเค็มได้จากกะปิ เกลือรสเปรี้ยว ได้จากส้มแขก   น้ำส้มลูกโหนดตะลิงปลิง ระกำ มะนาว มะขามเปียก และมะขามสด เป็นต้นเนื่องจากอาหารภาคใต้มีรสจัด อาหารหลาย ๆ อย่างจึงมีผักรับประทานควบคู่ไปด้วย เพื่อลดความเผ็ดร้อนลงซึ่งคนภาคใต้ เรียกว่า ผักเหนาะ หรือบางจังหวัดอาจเรียกว่า ผักเกร็ด   ผักเหนาะของภาคใต้มีหลายอย่าง บางอย่างก็เป็นผักชนิดเดียวกับภาคกลาง เช่น มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู ฯลฯ แต่ก็มีผักอีกหลายอย่างที่รู้จักกันเฉพาะคน ภาคใต้เท่านั้น การเสิร์ฟผักเหนาะกับอาหารปักษ์ใต้ ชนิดของผักจะคล้าย ๆกัน   หรืออาจเป็นผักที่ผู้รับประทานชอบก็ได้

ที่มา : http://student.swu.ac.th/sc481010115/southfood1.htm

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อาหารอีสาน

วิธีปรุงอาหารพื้นเมืองของแต่ละท้องถิ่น มีลักษณะแตกต่างกันออกไปและสอดคล้องกับ ธรรมชาติและทรัพยากรอาหาร ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเลือกวิธีการปรุง ที่เหมาะสมกับชนิดของวัตถุดิบ และเป็นที่ถูกปากและพึงพอใจแก่ผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้น อย่างอิสระหรือโดยบังเอิญ หากแต่เป็นผลจากการกลั่นกรอง ภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ โดยการเลือกสรรอาหารที่มีประโยชน์สอดคล้องกับวิถีชีวิต และตัดสิ่งที่เกิดโทษออกไป

สำหรับชาวจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ มีกรรมวิธีปรุงอาหารที่เรียบง่าย สะดวก รวดเร็วและมีรสชาติแตกต่างกันออกไป ชาวบ้านมีวิธีการปรุงอาหารเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยอาหารดังกล่าวจัดไว้ใน “พา” (ภาชนะ หรือ ภาชน์) ซึ่งทำด้วยหวาย หรือไม้ไผ่ หรือ วัสดุอื่น ซึ่งมีลักษณะกลมขนาดจะแตกต่างกันแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว พา จะเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารต่าง ๆ ที่รับประทานกับข้าวเหนียว

ชื่ออาหารหรือกับข้าว ของชาว อีสานเรียกด้วยชนิดของวัสดุที่ใช้ทำ หรือประกอบอาหาร (มิได้เรียกชื่อตามลักษณะการทำให้อาหารสุก)

จะสังเกตได้ว่า อาหารหลายอย่างของพื้นเมืองนิยมใส่ “ข้าวคั่วและข้าวเบือ” อาหารที่นิยมใส่ข้าวคั่วได้แก่ ลาบ ก้อย ก้อยกุ้ง ซุบ ส่า แกงอ่อม (บางครอบครัว) ส่วนข้าวเบือนิยมใส่ในแกงหน่อไม้ และ แกงอ่อม เพื่อให้อาหารมีลักษณะสัมผัสดี มีความข้นของน้ำแกงพอเหมาะ เมื่อปั้นข้าวเหนียวจิ้มจะทำให้ติดข้าวเหนียวได้มาก จะได้รสชาติดียิ่งขึ้น

  • ข้าวคั่ว คือ การนำข้าวสารเหนียวนำไปคั่วในกระทะหรือหม้อด้วยไฟอ่อนๆ ให้เหลืองมีกลิ่นหอม แล้วนำมาตำให้ละเอียด
  • ข้าวเบือ คือ การนำข้าวหม่า (ข้าวสารเหนียวแช่น้ำก่อนนึ่ง) มาตำให้ละเอียดนิยมใส่ในแกงอ่อม แกงหน่อไม้ (จะตำข้าวเบือใส่กับใบย่านางก่อนนำไปคั้นเอาน้ำ กรองให้ใสทำเป็นน้ำแกง)

เครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้และเป็นเครื่องปรุงหลักคือ “ปลาร้าหรือปลาแดก” ในวัฒนธรรมอีสานถือว่าเป็นหนึ่งใน “วิญญาณห้าของความเป็นอีสาน”  ได้แก่ ข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ หมอลำ และปลาร้า เพราะปลาร้าให้ทั้งรสและกลิ่นที่ชวนชิม ให้โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ครบครันทีเดียว

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในพาข้าวของชาวอีสานที่จะต้องมีทุกมื้อแทบจะขาดมิได้คือ ผักนานาชนิด ผักต่างๆ นั้นส่วนใหญ่เก็บมาจากหัวไร่ปลายนา เป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ วิธีการเก็บผักมาบริโภคของชาวอีสานนั้นจะเก็บเฉพาะที่พอบริโภคในแต่ละมื้อ ไม่นิยมเก็บไว้เพื่อบริโภคมื้อต่อไป ดังนั้นหากสังเกตจากครัวชาวบ้านจะพบว่า ไม่มีกับข้าวที่ปรุงสำเร็จค้างไว้ จะมีเพียงแจ่วหรือปลาร้า หรืออาจมีปลาปิ้งเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ก็ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง การเก็บผักแต่พอบริโภคเท่ากับเป็นการต่อชีวิตพืชพรรณเหล่านั้นให้มีดำรงอยู่และแพร่กระจายออกไป ดังนั้นความคิดที่ว่า ชาวอีสานอดอยาก ขาดแคลนอาหารนั้น จึงเป็นคำกล่าวที่เกิดจากการเข้าใจผิด แท้ที่จริงแล้วพวกเขามีมาก จนไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเก็บมาสะสมไว้ จะบริโภคเมื่อไรก็เดินไปเก็บ แหล่งอาหารของชาวอีสานไม่ได้อยู่ไกลจากบ้านของตนเลย มีอยู่ทุกที่ไม่ว่าริมรั้ว ห้วย หนอง หัวไร่ปลายนา ซึ่งล้วนแต่ได้คุณค่าทางโภชนาการ สดใหม่ เป็นพืชผักสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคได้

แหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติ (รวมทั้งแหล่งอาหารของชาวบ้านด้วย) คือ ประจำหมู่บ้าน ที่นี่เป็นที่หวงห้ามมิให้ใครบุกรุกเข้าไปทำลาย แต่เข้าไปเก็บเห็ด หาหน่อไม้ หายอดผักหวานและผักอื่นๆ มารับประทานได้ ดอนปู่ตา จึงเป็นภูมิปัญญาของชาวอีสานอย่างหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญรองมาจากแม่น้ำ

อย่างไรก็ดี ในการนำเสนอเรื่องอาหารในหัวข้อต่างๆ ณ ที่นี้อาจมีบ้างที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ตลอดจนส่วนประกอบ/ส่วนผสมและการเรียกชื่ออาจจะแตกต่างกันด้วย

เอกสารอ้างอิง :อาหารอีสานรสแซบ | ศิลปะวัฒนธรรมอีสาน และภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคอีสาน

ภาคกลาง

    อาหารการกิน

  • วัฒนธรรมการรับประทานของคนภาคกลาง

ภาคกลาง เป็นเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ  เหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์  ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี  จึงถือได้ว่าเป็นดินแดนซึ่งสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย  สมัยก่อนภาคกลางเป็นศูนย์กลางค้าขายสำคัญของประเทศไทย  มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติอยู่
ตลอดจึงได้รับวัฒนธรรมการกินของชาติต่างๆ เข้ามาด้วย เช่น เครื่องแกง แกงกะทิ ได้รับมาจากชาวฮินดู

อาหารประเภท  ต้ม ผัด ได้รับมาจากชาวจีนผู้เข้ามาติดต่อค้าขายทางเรือสำเภา   แม้กระทั่งขนมหวานที่มีไข่และแป้งเป็นส่วนผสม  ก็ได้รับการสืบทอดมาจากชาวตะวันตกเช่นเดียวกัน  ซึ่งคนไทยได้นำสูตรอาหารต่างๆ มาประยุกต์ทำรับประทานในครัวเรือน โดยปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่หาได้ง่าย  ในประเทศมาใช้แทนกัน และเผยแพร่ในเวลาต่อมาจนเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยจวบจนปัจจุบัน

ด้วยความหลากหลายนี้เอง จึงส่งผลให้รสชาติอาหารภาคกลางไม่เน้นหนักไปทางใดทางหนึ่ง  โดยทั่วไปจะรับประทานรสกลมกล่อม ทั้งเปรี้ยว หวาน  เค็ม  รวมถึงความจัดจ้านของพริกคลุกเคล้ากันไปตามแต่ชนิดของอาหาร
คนภาคกลาง นิยมรับประทานข้าวเจ้าเป็นหลัก  ไม่ว่าจะเป็นข้าวขาวหอมมะลิ ข้าวขาวธรรมดา (ข้าวเสาไห้)  ข้าวกล้อง ข้าวกล้องหอมมะลิ ในการหุงข้าวแต่ละชนิด อัตราส่วนของน้ำ : ข้าวสาร จึงแตกต่างกันไปตามปริมาณเส้นใยอาหารที่มีอยู่ในข้าวนั้นๆ

  • วิธีการหุงข้าวเจ้า

ปัจจุบันมีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ใช้กันอยู่ในทุกครัวเรือน เพื่ออำนวยความสะดวก เหมาะกับครอบครัวที่ทำอาหารรับประทานเอง  โดยหลักการทำให้ข้าวสุกนั้นเหมือนกับการหุงข้าว แบบไม่เช็ดน้ำในสมัยก่อน อีกทั้งยังรักษาคุณค่าทางอาหารไว้ได้อย่างดีอีกด้วย ซึ่งได้ยกตัวอย่างการหุงข้าวเจ้าต่างๆ ไว้ดังนี้
– ข้าวขาวหอมมะลิ        ใช้ข้าวสาร   2  ถ้วย   :     น้ำ 2 ½   ถ้วย
– ข้าวขาวธรรมดา          ใช้ข้าวสาร   2  ถ้วย   :      3 ถ้วย
– ข้าวกล้องหอมมะลิ     ใช้ข้าวสาร   2  ถ้วย   :      4 ถ้วย
– ข้าวกล้องธรรมดา       ใช้ข้าวสาร   2  ถ้วย   :      5 ถ้วย

เอกสารอ้างอิง : เสมอพร สังวาสี.  (2549).  อาหารไทยสี่ภาค. กรุงเทพฯ : Health & Cuisine.

ภาคเหนือ

       อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ
  


         ในอดีตบริเวณภาคเหนือของไทยเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน ช่วงที่อาณาจักร  แห่งนี้เรืองอำนาจ ได้แผ่ขยายอาณาเขตเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และมีผู้คนจากดินแดน  ต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งนี้ จึงได้รับวัฒนธรรมหลากหลายจากชนชาติต่าง ๆ เข้ามา  ในชีวิตประจำวันรวมทั้งอาหารการกินด้วย 
     อาหารของภาคเหนือ ประกอบด้วยข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก มีน้ำพริกชนิดต่าง ๆ เช่น  น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง มีแกงหลายชนิด เช่น แกงโฮะ แกงแค นอกจากนั้นยังมีแหนม ไส้อั่ว แคบหมู  และผักต่าง ๆ สภาพอากาศก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้อาหารพื้นบ้านภาคเหนือแตกต่างจากภาคอื่น ๆ  นั่นคือ การที่อากาศหนาวเย็นเป็นเหตุผลให้อาหารส่วนใหญ่มีไขมันมาก เช่น น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล ไส้อั่ว เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น อีกทั้งการที่อาศัยอยู่ในหุบเขาและบนที่สูงอยู่ใกล้กับป่า จึงนิยมนำพืชพันธุ์ในป่ามาปรุงเป็นอาหาร เช่น ผักแค บอน หยวกกล้วย ผักหวาน ทำให้เกิดอาหารพื้นบ้าน ชื่อต่าง ๆ เช่น แกงแค แกงหยวกกล้วย แกงบอน อาหารพื้นบ้านภาคเหนือมีความพิเศษตรงที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมการกินจากหลายกลุ่มชน เช่น ไทใหญ่ จีนฮ่อ ไทลื้อ และคนพื้นเมือง  

         อาหารทุกชนิดจะรับประทานร่วมกับข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่งใส่ในกระติ๊บข้าว อาหารอื่น ๆ ใส่ในถ้วย อาหารทั้งหมดจะนำไปวางบนขันโตก ซึ่งเป็นภาชนะใส่อาหารที่ทำจากไม้สักกลึงให้ได้รูป ขนาดพอดีกับการนั่งรับประทานบนพื้นบ้าน   อาหารพื้นบ้านภาคเหนือล้วนผ่านการปรุงแต่ง ดัดแปลงทั้งรสชาติและวัตถุดิบจากพื้นบ้านและ จากกลุ่มชนต่าง ๆ เป็นสำรับอาหารทางวัฒนธรรมของภาคเหนือที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในหมู่ คนไทยและชาวต่างชาติ 

ที่มา : http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/others/wilaiporn/__76.html

เอกลักษณ์อาหารท้องถิ่น

ภาคกลาง

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ข้าวปลาอาหารจึงอุดมสมบูรณ์เกือบตลอดทั้งปี รวมทั้งมีพืชผัก ผลไม้นานาชนิด

ด้วยเหตุนี้อาหารภาคกลางจึงเป็นอาหารที่มีความหลากหลาย ทำให้รสชาติของอาหารภาคกลางไม่เน้นไปทางรสใดรสหนึ่งโดยเฉพาะ คือมีทั้งรสเค็ม เผ็ด เปรี้ยว และหวานคลุกเคล้าไปตามชนิดต่างๆของอาหาร นอกจากนี้มักมีการใช้เครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส เช่น เครื่องเทศ และมักใช้กะทิเป็นส่วนประกอบของอาหาร

อาหารภาคกลางเป็นอาหารที่มักจะมีเครื่องเคียงของแนมร่วมรับประทานด้วย เช่น น้ำพริกลงเรือ แนมด้วยหมูหวาน น้ำปลาหวานทานกับสะเดา เป็นต้น

จุดเด่นคือ อาหารภาคกลางมักจะมีการประดิษฐ์ สร้างสรรค์อย่างวิจิตรบรรจง ผัก และผลไม้มีการแกะสลักอย่างสวยงาม แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยที่มีศิลปะและวัฒนธรรมที่งดงาม 

 อาหารประจำภาคกลาง ห่อหมกปลา แกงเผ็ดเป็ดย่าง น้ำพริกลงเรือ  หมูหวาน หมี่กะทิ ยำวุ้นเส้น 

 

ภาคเหนือ

เป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต มีขนบธรรมเนียม ประเพณีที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ

การรับประทานอาหารของทางภาคเหนือจะใช้โก๊ะข้าว หรือที่เรียกว่า ขันโตก แทน โต๊ะอาหาร โดยจะนั่งล้อมวงเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน

คนภาคเหนือจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก โดยอาหารของทางภาคเหนือจะเป็นอาหารที่สุกมากๆ และเป็นอาหารประเภทที่ผัดกับน้ำมันเป็นส่วนใหญ่
 

อาหารประจำภาคเหนือ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวซอยไก่ น้ำพริกหนุ่ม แกงแคไก่ แกงฮังเล 

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เป็นดินแดนที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้อาหารพื้นเมืองจึงเป็นอาหารพวกแมลงหลายชนิด ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรในภาคนี้

อาหารอีสานส่วนใหญ่จะมีข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ส่วนพืชผัก และเนื้อสัตว์ที่นำมาใช้ประกอบอาหารได้มาจากภายในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่

อาหารอีสานมักใช้ปลาร้าเป็นเครื่องปรุงรสในอาหารเกือบทุกชนิด แต่ไม่นิยมใส่ในอาหารประเภทผัด และมักรับประทานคู่กับผักสด
 อาหารประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซุปหน่อไม้ น้ำพริกปลาร้า ลาบหมู ไส้กรอกหมู อ่อมปลาดุก

 

 

ภาคใต้

พื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ลักษณะภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล ประชากรส่วนใหญ่จึงนิยมทำประมง

ด้วยเหตุนี้อาหารหลักของภาคใต้จึงเป็นอาหารทะเลสด และนิยมใช้เครื่องเทศในการปรุงอาหาร รสชาติจะเผ็ดร้อน เค็มและเปรี้ยว เช่น แกงไตปลา แกงส้ม และแกงเหลือง เป็นต้น

อาหารภาคใต้นิยมทานควบคู่กับผักเพื่อช่วยลดความเผ็ดร้อนลง ซึ่งเรียกว่า ผักเหนาะ เช่น มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู สะตอเป็นต้น

 อาหารประจำภาคใต้ ข้าวยำ ผัดสะตอใส่กะปิ ขนมจีน – น้ำยา เนื้อคั่วกลิ้ง แกงไตปลาน้ำข้น   

 

ที่มา : Thai Food To World

วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทย

  • วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทย

ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ  เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ อีกทั้งคนไทยสมัยก่อนรู้จักนำพืชผักสมุนไพรที่หาได้ง่ายมาปรุงแต่งเป็นเมนูอาหารรับประทานภายในครอบครัว     ส่งผลให้วิถีการใช้ชีวิตของคนไทยสอดคล้องกับวิถีความเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ   ซึ่งคนในสมัยก่อนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง  ไม่เจ็บป่วยง่าย เพราะรู้จักนำสมุนไพรในท้องถิ่น ที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคและใช้บำรุงร่างกายมาปรุงอาหารอีกด้วย

สมัยโบราณ ครอบครัวไทยนั่งรับประทานอาหารกับพื้น ใช้ผ้าสะอาดหรือเสื่อปูลาดบนพื้นบ้าน ผู้ที่จะรับประทานนั่งล้อมวงกัน ตักข้าวจากโถใส่จาน อาหารจัดมาเป็นสำรับ วางสำรับไว้ตรงกลางวง มีช้อนกลางสำหรับตักกับข้าวใส่จานของตน และเปิบอาหารด้วยมือ บางบ้านจะมีขันหรือจอกตักน้ำและกระโถนเตรียมไว้เพื่อรองน้ำล้างมือด้วย

ในสมัยโบราณ ครอบครัวไทยนิยมล้อมวงรับประทานอาหารบนพื้นบ้าน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้ติดต่อกับประเทศทางซีกโลกตะวันตกมากยิ่งขึ้นวัฒนธรรมตะวันตกได้ แพร่เข้ามา ทำให้วิธีรับประทานอาหารของคนไทยเปลี่ยนไป โดยดัดแปลงให้เหมาะสมกับอาหารไทย เช่น ใช้ช้อนส้อมแทนมีดและส้อมแบบตะวันตก เป็นต้น การนั่งรับประทานอาหารกับพื้นก็เลิกไป เปลี่ยนมาเป็นนั่งรับประทานอาหารกับโต๊ะแทน แต่ยังคงวางอาหารทุกอย่างไว้กลางโต๊ะ  มีช้อนกลางสำหรับตักอาหารและมีถ้วยเล็กๆสำหรับผู้ร่วมวงแต่ละคน เพื่อใส่กับ ข้าวที่แบ่งจากกลางวง เมื่อรับประทานอาหารคาวเสร็จแล้ว ก็จะถอนของคาวออกหมด และแจกของหวานสำหรับทุกคนต่อไป

เอกสารอ้างอิง : Eazy Thai cooking. (2549).  กรุงเทพฯ : Health & Cuisine.

http://guru.sanook.com/encyclopedia/ประเพณีการรับประทานอาหารของคนไทย

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาหารท้องถิ่น

สีอาหารจากธรรมชาติ

  • สีเหลือง   :  ขมิ้นสด  ล้างนำมาปอกเปลือก บดหรือโขลกเติมน้ำ กรองด้วยผ้าขาวบาง จะได้น้ำสีเหลือง น้ำไปแต่งสีอาหารได้ขมิ้นอ้อย  ดอกโสน ใช้ดอกโสนผสมกับข้าวจ้าวแช่น้ำ  โม่จะได้แป้งสีเหลือง
  • สีเหลือง- ส้ม   : นำดอกกรรณิการ์ เด็ดส่วนของดอกที่เป็นหลอดสีส้ม เติมน้ำกรอง จะได้น้ำสี เหลืองหญ้าฝรั่น เอาน้ำร้อนชงลงในหญ้าฝรั่นจะได้น้ำสีเหลือง หรือถ้าเป็นข้าวหมกไก่ ใช้หญ้าฝรั่นหุงปนกับข้าว
  • สีเหลือง – แดง  : เอาดอกของต้นคำฝอย มาชงในน้ำร้อน จะได้เป็นสีเหลืองส้ม
    เพิ่มเติม

สัดส่วนของเครื่องปรุง

เพื่อความเข้าใจง่ายในการปรุงรสอาหาร ให้อร่อยและรสชาติไม่ผิดไปจากเดิม จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานช่วยทำให้เกิดความแน่นอน สำหรับผู้ปรุงอาหารบางท่านอาจจะใส่เครื่องปรุง ตามที่เคยทำมาแล้วอร่อย ส่วนของเครื่องปรุงก็คงไม่ต่างจากเครื่องปรุงมาตรฐานเท่าใดนัก

ตาราง สัดส่วนของเครื่องปรุง

ที่มา : วัลยา  ภู่ภิญโญ.  (2542).  สารพันอาหารไทย. กรุงเทพฯ : ดุจลดา ครีเอชั่น.

หลักการปรุงอาหาร

การเรียนรู้วิธีปรุงจากตำรา  หรือการจดจำเครื่องปรุงและวิธีทำได้ เมื่อปรุงรสอาหารไม่ได้ดั่งใจ เค็มไป เปรี้ยวไป หวานไป ทำให้รสชาติอาหารเสียได้ การปรุงอาหารให้ถูกปาก เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ข้อสำคัญต้องมีประสบการณ์ เคยปรุงอาหารมามากจนรู้รสอาหารทุกอย่าง กว่าจะมีความชำนาญ ก็ต้องชิมอาหารมามาก หลักเบื้องต้นของการปรุงอาหารให้อร่อยก็อยู่ที่การฝึกหัดชิมรสอาหาร  จะต้องจำว่าอาหารออกรสใด
เพิ่มเติม

ทำอาหารไทยให้อร่อย

ผัดซีอิ้ว

ผู้ที่เป็นแม่ครัว เป็นผู้ที่ชอบทำอาหารรับประทาน
มีจิตใจยอมรับที่จะบริการผู้อื่นให้มีความสุข
ด้วยการรับประทาน จะต้องมีหัวคิดพลิกแพลง
มิใช่ว่าจะคงรูป เหมือนอาหารโบราณ เสมอไป             เพิ่มเติม

เอกลักษณ์อาหารไทย

อาหารไทยเป็นอาหารเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่คนทำอาหารต้องตระหนักถึงจุดนี้

อาหารไทยเป็นที่นิยมทั้งในประเทศไทยเองและในต่างประเทศ  เป็นที่ยอมรับและรู้จักอย่างแพร่หลาย  เห็นได้อย่างความประสบความสำเร็จของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ  เสน่ห์ของอาหารไทยแต่ละจานมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป  มีส่วนผสมที่หลากหลายนำมาผสมผสานกันเพื่อให้เป็นเกิดความอร่อยและประทับใจ  อีกทั้งอาหารไทยเป็นอาหารสุขภาพ  ใช้ไขมันในการปรุงอาหารน้อย  ใช้เนื้อสัตว์น้อย  เน้นผักเป็นสำคัญ  ทำให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง  และมีสรรพคุณทางยาในคราวเดียวกัน

การปรุงแต่งกลิ่น  สี รส มาจากธรรมชาติ  จากพืชผัก  ดอกไม้  เครื่องเทศและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติทั้งสิ้น

การจำแนกคุณค่าอาหารไทยออกได้ 3 ด้าน ดังนี้ (ศรีสมร  คงพันธุ์, 2547)

1.  คุณค่าทางโภชนาการ  อาหารไทยแต่ละจานมีสารอาหารหลายตัว  สารอาหารแต่ละตัวร่างกายจะใช้ประโยชน์ได้ต้องทำงานร่วมกัน เช่น วิตามินเอที่มีอยู่ในมะเขือพวง  เมื่อใส่ในแกงเขียวหวาน  ร่างกายจะใช้วิตามินเอที่มีอยู่ในมะเขือพวงได้ก็ต้องได้ไขมันจากกะทิและโปรตีนจากไก่  เป็นต้น

2.  คุณค่าสรรพคุณทางยาของผักและสมุนไพรที่เป็นเครื่องปรุงของอาหารแต่ละจาน เช่น หอมแดงและกระเทียมที่ใส่ในน้ำพริกแกงช่วยลดไขมันในเลือด  เส้นใยอาหารในมะเขือพวงช่วยกวาดน้ำตาลในเลือด  พริกทำให้การไหลเวียนของเลือดดี  สลายลิ่มเลือด  ลดความดัน

3.  คุณค่าทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม  โดยปกติพืชผัก  สมุนไพร  เครื่องเทศ  แต่ละอย่างจะมีรสชาติและลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่น ขี้เหล็กจะมีรสขมม  ยิ่งกว่ายาขมใด ๆ เพราะภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ  เมื่อนำมาทำเป็นแกงขี้เหล็กโดยมีส่วนผสมของน้ำพริกแกง (น้ำพริกแกง คือ การนำเอาสมุนไพรและเครื่องเทศหลายอย่างมาผสมเข้าด้วยกัน) กะทิและเนื้อสัตว์ทำให้อาหารจากผักที่ขมเกิดความอร่อยขึ้นมาได้

อาหารไทยมีหลายรสชาติหลากหลายอยู่ในจานเดียวกัน   อาหารแต่ละรสส่งเสริมซึ่งกันและกันให้เกิดความอร่อย  เช่น   ต้มยำกุ้ง ความเปรี้ยวของมะนาวในต้มยำถูกลดความเปรี้ยวด้วยความเผ็ดของพริกขี้หนู  ความเผ็ดของพริกขี้หนูถูกลดความเผ็ดด้วยกุ้ง  รสของกุ้งจะอร่อยยิ่งขึ้นเมื่อกินตะไคร้ตาม

นี่คือ…เอกลักษณ์อาหารไทย

เปิดตำนานอาหารไทย

สำรับอาหารไทย

อาหารไทย เป็นอาหารประจำของชนชาติไทย ที่มีการสั่งสมและถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต จนเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ถือได้ว่าอาหารไทยเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่สำคัญของไทย ขณะที่อาหารพื้นบ้าน หมายถึง อาหารที่นิยมรับประทานกันเฉพาะท้องถิ่น ซึ่งเป็นอาหารที่ทำขึ้นได้ง่าย โดยอาศัยพืชผักหรือเครื่องประกอบอาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่น มีการสืบทอดวิธีปรุงและการรับประทานต่อๆ กันมา

จุดกำเนิดอาหารไทย อาหารไทยมีจุดกำเนิดพร้อมกับการตั้งชนชาติไทย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาของ อาจารย์กอบแก้ว นาจพินิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เรื่องความเป็นมาของอาหารไทยยุคต่างๆ สรุปได้ดังนี้

สุโขทัย

  • สมัยสุโขทัย

อาหารไทยในสมัยสุโขทัยได้อาศัยหลักฐานจากศิลาจารึก และวรรณคดี สำคัญคือ ไตรภูมิพระร่วงของ
พญาลิไท ที่ได้กล่าวถึงอาหารไทยในสมัยนี้ว่า มีข้าวเป็นอาหารหลัก โดยกินร่วมกับกับข้าว ที่ส่วนใหญ่ได้มาจากปลา มีเนื้อสัตว์อื่นบ้าง การปรุงอาหารได้ปรากฏคำว่า “แกง” ใน ไตรภูมิพระร่วงที่เป็นที่มาของคำว่า ข้าวหม้อแกงหม้อ ผักที่กล่าวถึงในศิลาจารึก คือ แฟง แตงและน้ำเต้า ส่วนอาหารหวานก็ใช้วัตถุดิบพื้นบ้าน เช่น ข้าวตอกและน้ำผึ้ง ส่วนหนึ่งนิยมกินผลไม้แทนอาหารหวาน

อยุธยา

  • สมัยอยุธยา

สมัยนี้ถือว่าเป็นยุคทองของไทย ได้มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้นทั้งชาวตะวันตกและตะวันออก จากบันทึกเอกสารของชาวต่างประเทศ พบว่าคนไทยกินอาหารแบบเรียบง่าย ยังคงมีปลาเป็นหลัก มีต้ม แกง และคาดว่ามีการใช้น้ำมันในการประกอบอาหารแต่เป็นน้ำมันจากมะพร้าวและกะทิ มากกว่าไขมันหรือน้ำมันจากสัตว์มากขึ้น คนไทยสมัยนี้มีการถนอมอาหาร เช่นการนำไปตากแห้ง หรือทำเป็นปลาเค็ม มีอาหารประเภทเครื่องจิ้ม เช่นน้ำพริกกะปิ นิยมบริโภคสัตว์น้ำมากกว่าสัตว์บก โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ ไม่นิยมนำมาฆ่าเพื่อใช้เป็นอาหาร ได้มีการกล่าวถึงแกงปลาต่างๆ ที่ใช้เครื่องเทศ เช่น แกงที่ใส่หัวหอม กระเทียม สมุนไพรหวาน และเครื่องเทศแรงๆ ที่คาดว่านำมาใช้ประกอบอาหารเพื่อดับกลิ่นคาวของเนื้อปลา

หลักฐานจากการบันทึกของบาทหลวงชาวต่างชาติที่แสดงให้เห็นว่าอาหารของชาติ ต่าง ๆ เริ่มเข้ามามากขึ้นในสมเด็จพระนารายณ์ เช่น ญี่ปุ่น โปรตุเกส เหล้าองุ่นจากสเปนเปอร์เซีย และฝรั่งเศส สำหรับอิทธิพลของอาหารจีนนั้นคาดว่าเริ่มมีมากขึ้นในช่วงยุคกรุงศรีอยุธยา ตอนปลายที่ ไทยตัดสัมพันธ์กับชาติตะวันตก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าอาหารไทยในสมัยอยุธยา ได้รับเอาวัฒนธรรมจากอาหารต่างชาติ โดยผ่านทางการมีสัมพันธไมตรีทั้งทางการทูตและทางการค้ากับประเทศต่างๆ และจากหลักฐานที่ปรากฏทางประวัติศาสตร์ว่าอาหารต่างชาติส่วนใหญ่แพร่หลาย อยู่ในราชสำนัก ต่อมาจึงกระจายสู่ประชาชน และกลมกลืนกลายเป็นอาหารไทยไป ในที่สุด

ธนบุรี

  • สมัยธนบุรี

จากหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ ซึ่งเป็นตำราการทำกับข้าวเล่มที่ 2 ของไทย ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ พบความต่อเนื่องของวัฒนธรรมอาหารไทยจากกรุงสุโขทัยมาถึงสมัยอยุธยา และสมัยกรุงธนบุรี และยังเชื่อว่าเส้นทางอาหารไทยคงจะเชื่อมจากกรุงธนบุรีไปยังสมัยรัตนโกสินทร์

โดยผ่านทางหน้าที่ราชการและสังคมเครือญาติ และอาหารไทยสมัยกรุงธนบุรีน่าจะคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยา แต่ที่พิเศษเพิ่มเติมคือมีอาหารประจำชาติจีน [แก้] สมัยรัตนโกสินทร์ การศึกษาความเป็นมาของอาหารไทยในยุครัตนโกสินทร์นี้ได้จำแนกตามยุคสมัยที่ นักประวัติศาสตร์ได้กำหนดไว้ คือ ยุคที่ 1 ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 และยุคที่ 2 ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังนี้

รัตนโกสินทร์

  • สมัยรัตนโกสินทร์ ยุคที่ 1 (พ.ศ. 2325 – พ.ศ. 2394)

อาหารไทยในยุคนี้เป็นลักษณะเดียวกันกับสมัยธนบุรี แต่มีอาหารไทยเพิ่มขึ้นอีก 1 ประเภท คือ นอกจากมีอาหารคาว อาหารหวานแล้วยังมีอาหารว่างเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้อาหารไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหารของประเทศจีนมากขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนเป็นอาหารไทย ในที่สุด จากจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ที่กล่าวถึงเครื่องตั้งสำรับคาวหวานของพระสงฆ์ ในงานสมโภชน์ พระพุทธมณีรัตนมหาปฏิมากร (พระแก้วมรกต)

ได้แสดงให้เห็นว่ารายการอาหารนอกจากจะมีอาหารไทย เช่น ผัก น้ำพริก ปลาแห้ง หน่อไม้ผัด แล้วยังมีอาหารที่ปรุงด้วยเครื่องเทศแบบอิสลาม และมีอาหารจีนโดยสังเกตจากการใช้หมูเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากหมูเป็นอาหารที่คนไทยไม่นิยม แต่คนจีนนิยม

บทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ ทรงกล่าวถึงอาหารคาวและอาหารหวานหลายชนิด ซึ่งได้สะท้อนภาพของอาหารไทยในราชสำนักที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะของอาหารไทยในราชสำนักที่มีการปรุงกลิ่น และรสอย่างประณีต และให้ความสำคัญของรสชาติอาหารมากเป็นพิเศษ และถือว่าเป็นยุคสมัยที่มีศิลปะการประกอบอาหารที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด ทั้งรส กลิ่น สี และการตกแต่งให้สวยงามรวมทั้งมีการพัฒนาอาหารนานาชาติให้เป็นอาหารไทย จากบทพระราชนิพนธ์ทำให้ได้รายละเอียดที่เกี่ยวกับการแบ่งประเภทของอาหาร คาวหรือกับข้าวและอาหารว่าง

ส่วนทีเป็นอาหารคาวได้แก่ แกงชนิดต่างๆ เครื่องจิ้ม ยำต่างๆ สำหรับอาหารว่างส่วนใหญ่เป็นอาหารว่างคาว ได้แก่ หมูแนม ล่าเตียง หรุ่ม รังนก ส่วนอาหารหวานส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ทำด้วยแป้งและไข่เป็นส่วนใหญ่ มีขนมที่มีลักษณะอบกรอบ เช่น ขนมผิง ขนมลำเจียก และมีขนมที่มีน้ำหวานและกะทิเจืออยู่ด้วย ได้แก่ ซ่าหริ่ม บัวลอย เป็นต้น

นอกจากนี้ วรรณคดีไทย เรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งถือว่าเป็นวรรณคดีที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นอย่างมากรวมทั้ง เรื่องอาหารการกินของชาวบ้าน พบว่ามีความนิยมขนมจีนน้ำยา และมีการกินข้าวเป็นอาหารหลัก ร่วมกับกับข้าวประเภทต่างๆ ได้แก่ แกง ต้ม ยำ และคั่ว อาหารมี ความหลากหลายมากขึ้นทั้งชนิดของอาหารคาว และอาหารหวาน

  • สมัยรัตนโกสินทร์ ยุคที่ 2 (พ.ศ. 2394 – ปัจจุบัน)

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างมาก และมีการตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทย ดังนั้น ตำรับอาหารการกินของไทยเริ่มมีการบันทึกมากขึ้น โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นในบทพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน จดหมายเหตุ เสด็จประพาสต้น เป็นต้น และยังมีบันทึกต่างๆ โดยผ่านการบอกเล่าสืบทอดทางเครือญาติ และบันทึกที่เป็นทางการอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นลักษณะของอาหารไทย ที่มีความหลากหลายทั้งที่เป็น กับข้าวอาหารจานเดียว อาหารว่าง อาหารหวาน และอาหารนานาชาติ

ทั้งที่เป็นวิธีปรุงของราชสำนัก และวิธีปรุงแบบชาวบ้านที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอาหารไทยบางชนิดในปัจจุบันได้มีวิธีการปรุงหรือส่วน ประกอบของอาหารผิดเพี้ยนไปจากของดั้งเดิม จึงทำให้รสชาติของอาหารไม่ใช่ตำรับดั้งเดิม และขาดความประณีตที่น่าจะถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของอาหาร ไทย

เอกสารอ้างอิง : http://th.wikipedia.org/wiki/อาหารไทย

———————————————————————————————

รัชกาลที่ 5

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากการประพาสสิงคโปร์ เมืองอาณานิคมของอังกฤษ พระองค์ทรงเปลี่ยนไปเสวยอาหารเช้าแบบยุโรปส่งผลให้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ เปลี่ยนไปเสวย พระกระยาหารแบบตะวันตกมากยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดกระแสความนิยมที่แพร่หลายไปยังกลุ่มข้าราชการชั้นสูงแม้วัฒนธรรมอาหารตะวันตกจะเฟื่องฟูในราชสำนัก
แต่กระนั้นการเรียนรู้งานฝีมือและการปรุงอาหารชาววังตามแบบประเพณีก็ยังคง ดำรงอยู่ พระตำหนักหนึ่งที่เป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ด้านอาหารชาววังที่สำคัญที่สุดใน สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ พระตำหนักพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรดา หรือที่รู้จักกันในนามว่า “เจ้าสาย” พระองค์เป็นพระอัครชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงเป็น “ต้นเครื่องใหญ่” ตลอดรัชสมัย นอกจากนี้ยังมีตำรับที่ขึ้นชื่อลือชาในการทำอาหารและเป็นตำหนักที่มีผู้นิยม ส่งบุตรสาวเข้ามาฝึกฝนหาความรู้ คือวังบางขุนพรหม ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุลบริพัตร และที่วังของราชสกุลชุมสาย ซึ่งในสมัยก่อนนั้นถือว่าการส่งบุตรหลานเข้าวังจะทำให้ผู้หญิงมีค่าขึ้นด้วย ฝีมือทางการเรือน จนมีคำกล่าวว่า

ฝีมือทางการเรือน ของหญิงไทยในอดีต

” ถ้าหญิงคนใดสามารถปอกมะปรางริ้วได้ ปั้นขนมจีบได้ ละเลงขนมเบื้องได้ และจีบพลูได้สวยงามแล้ว หญิงผู้นั้นมีค่าตัวสิบชั่ง”



รัชกาลที่5 ทรงทำกับข้าว

ใน รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจกล่าวได้ว่า เป็นยุคสมัยการแลก เปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอาหารระหว่างชาววังและชาวบ้านในหลายถิ่นจากการ “เสด็จประพาสต้น” และการเสด็จตรวจหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านอาหารและโภชนาการ ดังปรากฏในหนังสือ “เจ้าชีวิต” ความตอนหนึ่งว่า

“พระ จุลจอมเกล้า ฯ ทรงเป็นบุคคลที่มีชีวิตอันเต็มไปด้วยความผาสุก กล่าวคือ ทรงทำงานอย่างหนักและเข้มแข็งที่สุด ครั้นถึงเวลาว่างก็ทรงสนุกสนานร่าเริงเต็มที่ หลักของชีวิตนั้นเป็นดังนี้ จะต้องเสวยให้ได้ดี บรรทมให้หลับสนิท ทรงเป็นพ่อครัวผู้สามารถ โปรดอาหารโอชาทุกชนิด ไทย จีน มลายู และฝรั่ง ของที่โปรดที่สุด คือ เสวยปิกนิกตามเสด็จประพาส แล้วปรุงอาหารกันเอง”

ศาสตร์และศิลป์แห่งอาหารชาววังได้เผยแพร่สู่ประชาชนอย่างกว้างขวางทั้ง จากบรรดาข้าหลวงที่เข้ามาถวายตัวรับใช้ในวัง ได้วิชาเรือนติดตัวไป เมื่อออกไปมีเหย้ามีเรือน ความรู้ด้านอาหารชาววังก็จึงถูกเผยแพร่ออกไป

ขนมหันตรา

แม้แต่แหล่งขายขนมหวานที่มีชื่อเสียงมากจาก “เกาะเกร็ด” พบว่าขนมหวานรสเลิศจากเกาะเกร็ดหลายชนิดมาจากในวัง เช่น ขนมหันตรา ซึ่งครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้มีการบูรณะ วัดปรมัยยิกาวาส เมื่อครั้งพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐิน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ การบูรณปฏิสังขรณ์ใช้เวลานานถึง ๑๐ ปีกว่าจะเสร็จ ระหว่างนั้นพระองค์เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดแห่งนี้หลายครั้ง แม่ครัวชาววังที่ตามเสด็จทำอาหารคาวหวานถวายพระและจัดเลี้ยงผู้ร่วมงาน ชาวเกาะเกร็ดที่เข้ามาช่วยงานจึงได้รับการถ่ายทอดมาจากวัง แล้วอาหารชาววังอื่นๆที่ชาวเกาะเกร็ดได้รับถ่ายทอดมาจากชาววัง ได้แก่ แกงมัสมั่น แกงบวน ยำใหญ่ หมูกระจกกับน้ำพริกเผา และหมี่กรอบ เป็นต้น

ไม่ใช่เพียงอาหารชาววังถ่ายทอดสู่ชาวบ้านเท่านั้น ชาววังเองก็ได้รับเอาอาหารชาวบ้าน เช่น “ข้าวแช่ชาวมอญ” ไปปรับเปลี่ยนเป็น “ข้าวแช่ชาววัง” ซึ่งมีเรื่องเล่าขานว่า “ข้าวแช่ฝีมือเจ้าจอมสดับนั้นอร่อยและจัดสำรับได้อย่างสวยงามมาก จนกลายเป็นต้นแบบของข้าวแช่” และเชื่อกันว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราช ดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับที่เขาวัง จังหวัดเพชรบุรี ข้าวแช่ ได้รับการถ่ายทอดสู่ชาวบ้าน จนกลายเป็น “ข้าวแช่เมืองเพชร” ที่มีชื่อเสียงเลื่องชื่อในปัจจุบัน

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็น ระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ศาสตร์และศิลป์ แห่งอาหารชาววังได้ถูกเผยแพร่ออกประชาชนอย่างเป็นระบบผ่าน “โรงเรียน” ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งให้ความรู้แห่งใหม่ โดยในระยะแรกได้ใช้วังเป็นโรงเรียน เช่น

โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน เปิดสอนวิชาคหกรรมศาสตร์และการเลี้ยงเด็ก ในวังกรมหลวงชุมพรเขตศักดิ์ ในปี พ.ศ.๒๔๗๗

การเรียนทำอาหารไม่จำกัดอยู่แต่ภายในสถานศึกษาเท่านั้น ยังพบว่ามีการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทางด้านอาหารอีกมากมาย เช่น ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ คุณหญิงสุรเสียงมงคลการ ได้รวบรวมสูตรขนมหวานชาววังของสกุลชุมสาย และ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิ์วัตน์ ซึ่งเป็นผู้นำศาสตร์และศิลป์ของอาหารชาววังมาเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านทาง รายการวิทยุและโทรทัศน์

อาหาร ชาววัง จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” อย่างหนึ่งของภูมิปัญญาไทย และสามารถนำเสนอให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงความมีอารยธรรมของชนชาติไทย ที่มีการสะสมและสืบทอดกันมานับศตวรรษ

อาหาร ไทย เป็นเครี่องสะท้อนให้เห็นถึงชีวิต ความคิด จิตใจของคนไทยได้อย่างแจ่มชัด วัฒนธรรมอาหารการกินที่มีความหลากหลายอย่างน่าอัศจรรย์ ถูกสร้างสรรค์มาจากภูมิปัญญาในการคัดเลือกทรัพย์ในดิน สินในน้ำที่อุดมสมบูรณ์ จากข้าว ปลา พืช ผัก ผลไม้ ผสานกับภูมิปัญญาของบรรพชนมาปรุงให้เป็นอาหารได้อย่างสารพัด ด้วยกรรมวิธีต่างที่ถูกคิด เลือกสรร และประดิษฐ์ให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น และยังผสมผสานวัฒนธรรมจากชาติต่าง ๆ เช่น อินเดีย จีน มอญ พม่า เป็นต้น ซึ่งกว่าที่อาหารชนิดนั้นจะมาเป็นส่วนหนึ่งของสำรับอาหารไทยก็ต้องผ่านการ ปรับเปลี่ยน ปรุงแต่งรสชาติให้ถูกปากถูกลิ้นคนไทยและเหมาะสมกับวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้อง ถิ่นตนเอง ซึ่งไม่ว่าอาหารชนิดนั้นจะรับวัฒนธรรมมาจากชาติใดก็ตาม สุดท้ายก็คือ อาหารไทย ที่เกิดจากภูมิปัญญาไทยนั้นเอง

เอกสารอ้างอิง  http://www.suandusitcuisine.com/openingthaiculinary2.php

Previous Older Entries