ภาคกลาง

    อาหารการกิน

  • วัฒนธรรมการรับประทานของคนภาคกลาง

ภาคกลาง เป็นเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ  เหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์  ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี  จึงถือได้ว่าเป็นดินแดนซึ่งสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย  สมัยก่อนภาคกลางเป็นศูนย์กลางค้าขายสำคัญของประเทศไทย  มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติอยู่
ตลอดจึงได้รับวัฒนธรรมการกินของชาติต่างๆ เข้ามาด้วย เช่น เครื่องแกง แกงกะทิ ได้รับมาจากชาวฮินดู

อาหารประเภท  ต้ม ผัด ได้รับมาจากชาวจีนผู้เข้ามาติดต่อค้าขายทางเรือสำเภา   แม้กระทั่งขนมหวานที่มีไข่และแป้งเป็นส่วนผสม  ก็ได้รับการสืบทอดมาจากชาวตะวันตกเช่นเดียวกัน  ซึ่งคนไทยได้นำสูตรอาหารต่างๆ มาประยุกต์ทำรับประทานในครัวเรือน โดยปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่หาได้ง่าย  ในประเทศมาใช้แทนกัน และเผยแพร่ในเวลาต่อมาจนเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยจวบจนปัจจุบัน

ด้วยความหลากหลายนี้เอง จึงส่งผลให้รสชาติอาหารภาคกลางไม่เน้นหนักไปทางใดทางหนึ่ง  โดยทั่วไปจะรับประทานรสกลมกล่อม ทั้งเปรี้ยว หวาน  เค็ม  รวมถึงความจัดจ้านของพริกคลุกเคล้ากันไปตามแต่ชนิดของอาหาร
คนภาคกลาง นิยมรับประทานข้าวเจ้าเป็นหลัก  ไม่ว่าจะเป็นข้าวขาวหอมมะลิ ข้าวขาวธรรมดา (ข้าวเสาไห้)  ข้าวกล้อง ข้าวกล้องหอมมะลิ ในการหุงข้าวแต่ละชนิด อัตราส่วนของน้ำ : ข้าวสาร จึงแตกต่างกันไปตามปริมาณเส้นใยอาหารที่มีอยู่ในข้าวนั้นๆ

  • วิธีการหุงข้าวเจ้า

ปัจจุบันมีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ใช้กันอยู่ในทุกครัวเรือน เพื่ออำนวยความสะดวก เหมาะกับครอบครัวที่ทำอาหารรับประทานเอง  โดยหลักการทำให้ข้าวสุกนั้นเหมือนกับการหุงข้าว แบบไม่เช็ดน้ำในสมัยก่อน อีกทั้งยังรักษาคุณค่าทางอาหารไว้ได้อย่างดีอีกด้วย ซึ่งได้ยกตัวอย่างการหุงข้าวเจ้าต่างๆ ไว้ดังนี้
– ข้าวขาวหอมมะลิ        ใช้ข้าวสาร   2  ถ้วย   :     น้ำ 2 ½   ถ้วย
– ข้าวขาวธรรมดา          ใช้ข้าวสาร   2  ถ้วย   :      3 ถ้วย
– ข้าวกล้องหอมมะลิ     ใช้ข้าวสาร   2  ถ้วย   :      4 ถ้วย
– ข้าวกล้องธรรมดา       ใช้ข้าวสาร   2  ถ้วย   :      5 ถ้วย

เอกสารอ้างอิง : เสมอพร สังวาสี.  (2549).  อาหารไทยสี่ภาค. กรุงเทพฯ : Health & Cuisine.